การออกกำลังกายในผู้ป่วยเด็กมะเร็ง
May 17, 2013 by admin
Filed under เคล็ดลับสุขภาพดี
การออกกำลังกายในผู้ป่วยเด็กมะเร็ง
การออกกำลังกายในผู้ป่วยเด็กมะเร็งจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันความพิการ และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น การยึดติดของข้อ เพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อต่างๆ ทั่วร่างกาย และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ลดการพึ่งพาผู้อื่นและส่งเสริมการพึ่งตนเองในการใช้ชีวิตประจำวัน
การเลือกประเภทของการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายแบบเป็นลำดับขั้นจากระดับเบาจนถึงหนักปานกลางดังนี้
– การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจและระบบไหลเวียนเลือด เช่น การฝึกหายใจลึกพร้อมกับยกแขนขึ้น-ลง การเล่นเป่าฟองสบู่หรือกังหันลม เพิ่มความหนักของการออกกำลังกายด้วยการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว ปั่นจักรยาน หรือว่ายน้ำ
– การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานของกล้ามเนื้อ เช่น การบริหารแขนและขา เล่นเตะหรือรับส่งลูกบอล ปั่นจักรยานอยู่กับที่
– การออกกำลังกายเพื่อลดอาการบวมของแขนและขา เช่น การกระดกเท้าขึ้น – ลงเร็วๆ การยกแขนพร้อมกับกำ – แบมือเร็วๆ ควรเลือกอุปกรณ์ที่ใช้ในการออกกำลังกายให้เหมาะกับสภาวะและวัยของผู้ป่วย โดยควรมีอุปกรณ์การเล่นที่หลากหลายให้เด็กเลือกเพื่อจูงใจให้ออกกำลังกายและเกิดความเพลิดเพลินขณะออกกำลังกาย โดยเลือกอุปกรณ์และจัดสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัยสำหรับเด็ก
นอกจากนี้ควรคำนึงว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดให้ความหนักเบาในการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน และให้ผลลัพธ์ของการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน เช่น การเป่าฟองสบู่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจ การปั่นจักรยานช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและเพิ่มสมรรถภาพของระบบหายใจและการไหลเวียนของเลือด
ควรจัดให้มีการออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ในระยะเวลาที่ผู้ป่วยทนได้ แต่ไม่ควรเกินครั้งละ 1 ชั่วโมง และควรพักบ่อยๆ ขณะออกกำลังกาย
ข้อควรระวังในการออกกำลังกายคือ
1. ผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมีภาวะโลหิตจาง ไม่ควรออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดออกในข้อ
2. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องความบกพร่องของการรับความรู้สึก ควรระมัดระวังเมื่อออกกำลังกายแบบที่มีการเสียดสีทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง
3. ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องกระดูกเปราะหักง่าย ควรเลือกออกกำลังกายแบบที่มีแรงกระแทกน้อยลงบนกระดูกและข้อต่อ
4. ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่ที่มีคนจำนวนมาก เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่น
5. ควรระมัดระวังและสังเกตอาการผิดปรกติขณะออกกำลังกายในผู้ป่วยที่มีความเจ็บปวด ผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการทรงตัว หรือมีปัญหาระบบทางเดินหายใจ เช่น หน้าซีด เหงื่อออกมากผิดปรกติ หายใจไม่ออก มีอาการปวดรุนแรงขึ้น เดินเซมากขึ้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข โดย วิรงรอง ยศะสินธุ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (ร.พ.เด็ก)
Comments
Feel free to leave a comment...
and oh, if you want a pic to show with your comment, go get a gravatar!